ประชุมเชิงปฏิบัติการเฝ้าระวังและการตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อวัณโรคของบุคลากรในโรงพยาบาลด้วยการตรวจหาระดับสาร Interferon-gammaในเลือด (Interferon-gamma release assay: IGRA) วันที่ 19 มิถุนายน 2561 ณ โรงแรมแม่น้ำรามาดา พลาซ่า ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพมหานคร          

          การติดเชื้อในโรงพยาบาลเป็นปัญหาทางการแพทย์และสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย เพราะทำให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพอนามัยของผู้ป่วยที่รักษาอยู่ในโรงพยาบาล ทั้งผู้ให้และผู้ใช้บริการ ตลอดจนสังคมโดยส่วนรวม เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจเป็นอย่างยิ่ง โดยในทีมสุขภาพ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกระดับที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อและการแพร่กระจายเชื้อ โดยเฉพาะโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจ วัณโรคเป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจที่เป็นปัญหาสาธารณสุขของไทย ปัจจุบันพบป่วยวัณโรค และผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนานมาใช้บริการที่สถานบริการเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจากผลการสำรวจข้อมูล ด้านระบาดวิทยา พบว่าบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขติดเชื้อและป่วยเป็นวัณโรคในอัตราที่สูงกว่าประชากรทั่วไป อาจมีแนวโน้มสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการปฏิบัติงาน การแพร่กระจายเชื้อวัณโรค  ในสถานบริการสาธารณสุขในประเทศไทย ยังพบว่าบุคลากรที่ดูแลผู้ป่วยวัณโรคมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและป่วยเป็นวัณโรค  ถ้าหน่วยงานใดไม่มีหรือมีมาตรการการควบคุม
การติดเชื้อที่ไม่มีประสิทธิภาพจะส่งเสริมให้มีการแพร่เชื้อในสถานบริการสาธารณสุขทุกระดับ นอกจากนี้ยังพบว่าปัจจัยหลายอย่างสามารถแก้ไขด้วยวิธีการง่ายๆ ไม่เสียค่าใช้จ่ายมากนัก เพียงแต่ผู้ที่เกี่ยวข้องจะให้ความสำคัญ และดำเนินการให้เป็นรูปธรรม ก็จะสามารถป้องกันบุคลากรให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อวัณโรคในสถานบริการสาธารณสุขได้ สำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค ได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาบุคลากรดังกล่าว จึงได้จัดทำการเฝ้าระวัง และการตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อวัณโรคของบุคลากรในโรงพยาบาล ด้วยการตรวจหาระดับสาร Interferon-gamma ในเลือด  (Interferon-gamma release assay: IGRA)  เพื่อเฝ้าระวัง และเร่งรัดการค้นหาการรติดเชื้อในระยะแฝงของบุคลากร ประเมินภาวะการติดเชื้อวัณโรค ความชุกของการติดเชื้อวัณโรคของบุคลากร พัฒนาแนวทางการเฝ้าระวัง ติดตามการควบคุมการเกิดโรคในผู้ติดเชื้อ และการบริหารจัดการบุคลากรผู้ติดเชื้อ (Model development) วิเคราะห์ ประเมินอัตราการยอมรับการกินยาป้องกัน ตลอดจนประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการให้ยาป้องกันการป่วยเป็นวัณโรคในบุคลากรที่ติดเชื้อวัณโรคในระยะแฝงต่อไป

โดยมีวัตถุประสงค์ :

  1. เพื่อเฝ้าระวัง และเร่งรัดการค้นหาการรติดเชื้อในระยะแฝงของบุคลากรในสถานพยาบาล
  2. เพื่อประเมินภาวะการติดเชื้อวัณโรค ความชุกของการติดเชื้อวัณโรคของบุคลากรในสถานพยาบาล
  3. เพื่อพัฒนาแนวทางการเฝ้าระวัง ติดตามการควบคุมการเกิดโรคในผู้ติดเชื้อ และการบริหารจัดการบุคลากรผู้ติดเชื้อ (Model development)
  4. เพื่อวิเคราะห์ ประเมินอัตราการยอมรับการกินยาป้องกัน และประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการให้ยาป้องกันการป่วยเป็นวัณโรคในบุคลากรที่ติดเชื้อวัณโรคในระยะแฝง

 

 

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

สำนักวัณโรค เลขที่ 116 ถนนสุดประเสริฐ (ฝั่งขวา) แขวงบางโคล่ เขตบางคอแหลม กทม. 10120

โทรศัพท์ : 02-212-2279 แฟกซ์ : 02-212-1408